จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์

จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์

1. การเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น อย่างถูกต้อง เพียงพอ และทันเวลา
        – นักลงทุนสัมพันธ์ควรปฎิบัติตามข้อกำหนดของหน่วยงานทางการ เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
        – นักลงทุนสัมพันธ์ต้องใช้วิจารณญาณในการให้ข้อมูลต่างๆ อย่างระมัดระวังและรอบคอบ สามารถปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลได้ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าหรือเป็นข้อมูลที่อาจทำให้บริษัทเสียความสามารถในการแข่งขันได้
        – นักลงทุนสัมพันธ์ควรพิจารณาการให้ข้อมูลต่างๆ ให้มีความชัดเจนและมีรายละเอียดเพียงพอต่อการทำความเข้าใจ
        – นักลงทุนสัมพันธ์ต้องไม่เปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ด้วยเจตนารมย์ในการผลักดันให้มีการซื้อหุ้นของบริษัท
        – นักลงทุนสัมพันธ์ควรกำหนดช่องทางการเปิดเผยข้อมูลหรือแหล่งข้อมูลให้กับผู้ใช้ข้อมูลได้รับทราบอย่างเท่าเทียมกัน
2. การดูแลและรักษาข้อมูลภายใน
        – นักลงทุนสัมพันธ์ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลภายในต้องไม่เปิดเผยข้อมูลภายในให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดทราบ จนกว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะตามกฎเกณฑ์ต่างๆ แล้ว
        – นักลงทุนสัมพันธ์จะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับดูแลข้อมูลภายในให้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงาน จะต้องได้รับการเปิดเผยผ่านช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้บุคคลทั่วไปทราบทั่วกัน ก่อนถูกเปิดเผยให้กับผู้ลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจง
        – นักลงทุนสัมพันธ์จะต้องซื้อขายหุ้นของบริษัทก่อนที่จะมีการเปิดเผยงบการเงินเป็นเวลา 2 สัปดาห์ และต้องรายงานการซื้อขายหุ้นให้แก่ฝ่าย Compliance Unit ทราบภายในเวลา 3 วัน
        – นักลงทุนสัมพันธ์งดรับนัดหรือตอบคำถามเกี่ยวกับผลประกอบการในอนาคตอันใกล้ให้แก่นักวิเคราะห์และนักลงทุน (Quiet Period) เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนเปิดเผยงบการเงิน
3. การเปิดเผยข้อมูลอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
        – นักลงทุนสัมพันธ์ต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียเปรียบหรือเสียโอกาสในการลงทุน และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียติดต่อและสอบถามข้อสงสัยได้ตามความเหมาะสม โดยไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นพิเศษ
        – นักลงทุนสัมพันธ์ต้องใช้ความระมัดระวังในการสื่อสารข้อมูลผ่านทางเครือข่ายทางสังคม (Social Network) หากพบประเด็นที่ก่อให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนและจำเป็นต้องชี้แจง นักลงทุนสัมพันธ์จะแจ้งข้อมูลผ่านทางระบบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ทุกฝ่ายรับทราบโดยทั่วกัน เพื่อป้องกันปัญหาการให้ข้อมูลเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
4. การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
        – นักลงทุนสัมพันธ์ต้องหลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ อันเป็นการขัดต่อผลประโยชน์ของบริษัท
        – นักลงทุนสัมพันธ์ต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากความสัมพันธ์และข้อมูลที่ได้จากการทำหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ให้แก่บริษัท
        – นักลงทุนสัมพันธ์ต้องไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใดก็ตาม ในการเลือกดำเนินกิจกรรมหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับหน่วยงานภายนอก
        – นักลงทุนสัมพันธ์ต้องปฏิบัติตามนโยบายและจรรยาบรรณต่างๆ ที่บริษัทกำหนดไว้
หมายเหตุ : จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์ ของ บมจ.นำสินประกันภัย เขียนขึ้นตามแนวทางที่กำหนดไว้ในหนังสือชื่อ
                “จรรยาบรรณนักลงทุนสัมพันธ์” ที่จัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย